ชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นที่มีการก่อตั้ง พัฒนา และเติบโตมาอย่างต่อเนี่องเป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปี
นับแต่ปลาย พ.ศ. ๒๕๓๗ วิชาชีพทางทันตกรรมมีความตื่นตัวในการจัดตั้งชมรมเฉพาะสาขาวิชาชีพทางทันตแพทย์เป็นอย่างมาก ได้เริ่มมีการจัดตั้งชมรมเฉพาะสาขาวิชาชีพต่างๆขึ้น ทันตกรรมหัตถการก็เป็นสาขาวิชาชีพหนึ่งที่เริ่มมีแนวความคิดในการจัดตั้งขึ้นเป็นชมรม เพื่อเป็นศูนย์กลางของทันตแพทย์ในประเทศที่สนใจงานทันตกรรมหัตถการ และจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นของนักวิชาการและทันตแพทย์ทั่วไป ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับความคิดของอาจารย์ทางสาขาทันตกรรมหัตถการในคณะทันตแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงได้มีการรวมตัวของอาจารย์และทันตแพทย์เฉพาะสาขาทันตกรรมหัตถการขึ้น เพื่อร่วมกันก่อตั้งชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทย โดยในระยะก่อตั้งชมรมมีทันตแพทย์ผู้ให้ความสนใจประมาณ ๔๐ ท่าน
การดำเนินการจัดตั้งชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีการร่างระเบียบข้อบังคับชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทยขึ้น โดยอาศัยต้นแบบจากทันตแพทยสมาคมและชมรมอื่นๆที่มีการจัดตั้งในขณะนั้น และได้มีการประชุมพิจารณาร่างระเบียบร่วมกันระหว่างอาจารย์ ทันตแพทย์และทันตแพทย์ที่ให้ความสนใจเบื้องต้นจนได้ร่างระเบียบที่ลงตัว จึงได้มีการประชุมระหว่างอาจารย์ทันตแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดล และทันตแพทย์ที่ร่วมก่อตั้งเพื่อรับรองร่างระเบียบชมรมฯ ซึ่งเมื่อประชุมรับรองแล้วได้มีการออกเสียงในที่ประชุมเพื่อเลือกประธานชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทยคนแรก คือ ผศ.ทพญ.ถวัลยรัตน์ โหละสุต ซึ่งเป็นอาจารย์อาวุโสที่ทุ่มเทให้กับงาน ทันตกรรมหัตถการมาอย่างต่อเนื่องและเป็นที่เคารพรักของทันตแพทย์ทั่วไป โดยมี รศ.ดร.ทพ.ชลธชา ห้านิรัติศัย เป็นเลขานุการชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทย
ชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทย ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ และได้เข้าร่วมเป็นชมรมสมทบของทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๑ การจัดตั้งชมรมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ รวมทั้งความก้าวหน้าในสาขาทันตกรรมหัตถการทุกรูปแบบ สนับสนุน เพิ่มพูน ฟื้นฟูความรู้ทางทันตกรรมหัตถการ และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการเรียนการสอน และการวิจัยในสาขาทันตกรรมหัตถการ เป็นศูนย์กลางการติดต่อประสานงานและให้ความร่วมมือ ในการแลกเปลี่ยน ความรู้ระหว่างสมาชิกชมรมฯ กับสมาชิกชมรมหรือสมาคมอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ
ชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินงานมากว่า ๒๐ ปี มีคณะกรรมการบริหารชมรมฯมาแล้ว ๑๒ ชุดดังนี้
พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๒ ผศ.ทพญ.ถวัลยรัตน์ โหละสุต
พ.ศ. ๒๕๔๒ - ๒๕๔๔ ผศ.ทพญ.สายใจ มธุราสัย
พ.ศ. ๒๕๔๔ - ๒๕๔๖ ศ.คลินิกเกียรติคุณ ทพญ.อมรา ม่วงมิ่งสุข
พ.ศ. ๒๕๔๖ - ๒๕๔๘ ผศ.ทพญ.สายใจ มธุราสัย
พ.ศ. ๒๕๔๘ - ๒๕๕๐ รศ.ดร.ทพ.ชลธชา ห้านิรัติศัย
พ.ศ. ๒๕๕๐ - ๒๕๕๒ รศ.ทพญ.วาสนา พัฒนพีระเดช
พ.ศ. ๒๕๕๒ - ๒๕๕๔ ผศ.ทพญ.ศิริวิมล ศรีสวัสดิ์
พ.ศ. ๒๕๕๔ - ๒๕๕๖ รศ.ทพ.เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
พ.ศ. ๒๕๕๗ - ๒๕๕๘ ผศ.ทพญ.วัชราภรณ์ คูผาสุข
พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๐ รศ.ดร.ทพญ.ศิริวิมล ศรีสวัสดิ์
พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๖๒ รศ.ทพ.เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔ รศ.ดร.ทพ.พิศลย์ เสนาวงษ์
เป็นรูปอุ้งมือโอบฟันที่มีการบูรณะ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเป็นวัสดุอุดฟันที่เป็นสีทอง ซึ่งหมายถึงการอุดฟันด้วย gold foil ซึ่งถือเป็นงานคลาสสิกของงานทันตกรรมหัตถการ ผู้ออกแบบเครื่องหมายชมรมคือ ทันตแพทย์ทวีศักดิ์ อุ่นประเสริฐ มีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่วมกันของคณะกรรมการบริหารชมรมจนได้เป็นเครื่องหมายชมรมฯอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดได้มีการปรับสีเครื่องหมายชมรมให้ดูเป็นสามมิติยิ่งขึ้น
การประชุมวิชาการชมรมฯ จัดขึ้นครั้งแรกขึ้นเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ และนับเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นการเริ่มต้นของวาระคณะกรรมการบริหารชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทยชุดแรก การประชุมวิชาการได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ปีละอย่างน้อย ๒ ครั้ง โดยจะเป็นการประชุมวิชาการกลางปีร่วมกับการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๑ ครั้ง และการประชุมวิชาการปลายปีประมาณเดือนธันวาคม ๑ ครั้ง
วารสารชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทยได้เริ่มจัดทำ พิมพ์ และเผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ในวาระที่ ผศ.ทพญ.สายใจ มธุราสัย เป็นประธานชมรมฯ ครั้งแรก ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีการจัดพิมพ์หนังสือวิชาการชมรมฯ ๑ เล่ม ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ แต่ยังไม่ได้มีรูปแบบเป็นวารสารมีลักษณะเป็นพอคเก็ตบุ้ค เรื่องทันตกรรมร่วมสมัย Contemporary Restorative Materials ซึ่งหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาจากการบรรยายของชมรมฯ ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑
สำหรับวารสารชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทยที่ได้จัดทำขึ้นเล่มแรกเป็นเรื่อง Amalgam โดยแนวคิดของการทำวารสารคือ ต้องอ่านเข้าใจง่ายและมีเนื้อหาทันสมัย วารสารทุกเล่มจะมีบทความหลักเป็นเนื้อหาการบรรยายจากการประชุมวิชาการของชมรมฯ ก่อนหน้านั้น จึงเป็นเรื่องน่าเห็นใจมากสำหรับวิทยากร ผู้บรรยายในงานประชุมของชมรมฯ ที่นอกจากจะต้องเตรียมการบรรยาย และบรรยายอย่างเหน็ดเหนื่อย ยังต้องมีภาระในการเขียนบทความลงตีพิมพ์ในวารสารชมรมฯ ฉบับต่อไปด้วย แต่วิทยากรทุกท่านก็ให้เกียรติทำหน้าที่ทั้ง ๒ อย่างมาด้วยดีตลอด และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วารสารได้รับความสนใจจากทันตแพทย์ ทั้งที่เป็นสมาชิกชมรมฯ และทันตแพทย์ทั่วไป นอกเหนือจากการจัดทำรูปเล่มและภาพประกอบสีสวยงาม ราคาหนังสือที่ไม่แพงมาก ทำให้วารสารชมรมฯ จำหน่ายหมดทุกเล่มในเวลาอันรวดเร็ว จำนวนยอดการพิมพ์วารสารแต่ละครั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวน ๕๐๐ เล่ม จนเป็นกว่า ๒๐๐๐ เล่ม
จากจำนวนที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทำให้ชมรมฯ ได้เปลี่ยนรูปแบบของวารสารชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทย จากการพิมพ์เป็นเล่ม เป็นรูปแบบวารสารอิเล็กทรอนิก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ วาระ รศ.ดร.ทพญ.ศิริวิมล ศรีสวัสดิ์ โดยสมาชิกและผู้สนใจสามารถเข้าศึกษาได้ทาง Website ของชมรมฯ
การดำเนินการด้านวารสารของชมรมฯ สำเร็จได้ด้วยดี ด้วยความสามารถและความทุ่มเทของ สาราณียากรของชมรมฯ ทุกท่านทุกวาระที่ผ่านมา
นอกเหนือจากการจัดประชุมวิชาการประจำปีของชมรมฯ ทางชมรมฯยังได้จัดวิทยากรไปบรรยายในงานประชุมวิชาการของทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ ในบางครั้งตามที่ได้รับการร้องขอมา
อีกกิจกรรมหนึ่งของชมรมฯ คือการยกย่องผู้ทำประโยชน์แก่วงการวิชาการทันตกรรมหัตถการ หรือผู้อุทิศตนให้แก่การเรียนการสอนทางทันตกรรมหัตถการ โดยมีบทสัมภาษณ์มาลงในคอลัมน์ Hall of Fame ในวารสารชมรมฯ และได้มีการจัดทำโล่ Hall of Fame มอบให้แก่ทันตแพทย์ผู้ได้รับการสัมภาษณ์มาลงในคอลัมน์ดังกล่าวในการประชุมใหญ่ของชมรมฯ จนถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับโล่ Hall of Fame จำนวน ๙ ท่าน คือ
๑. ผศ.ทพญ.ถวัลยรัตน์ โหละสุต
๒. ผศ.ทพญ.สายใจ มธุราสัย
๓. ผศ.ทพ.สุรินทร์ ชูชาติไทย
๔. ศ.คลินิกเกียรติคุณ ทพญ.อมรา ม่วงมิ่งสุข
๕. ศ.คลินิกเกียรติคุณ ทพญ.วราภรณ์ ฐิตินันทพันธุ์
๖. รศ.ทพ.วิทยา พัฒนพีระเดช
๗. รศ.ทพญ.วาสนา พัฒนพีระเดช
๘. รศ.ดร.ทพ.ชลธชา ห้านิรัติศัย
๙. อ.ทพ.ธนินทร์ รัตนนาคินทร์
และกรรมการบริหารชมรมฯ วาระ พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔ ได้มีมติมอบรางวัล Hall of Fame ให้แก่อาจารย์ทันตแพทย์ อีกจำนวน ๔ ท่าน ได้แก่
๑. ผศ.ทพ.ดร.สุชิต พูลทอง
๒. รศ.ทพญ.ดร.ศิริวิมล ศรีสวัสดิ์
๓. รศ.ดร.ทพ.ชัยวัฒน์ มณีนุษย์
๔. รศ.ทพ.เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
Website ชมรมฯ เริ่มดำเนินการในสมัย ผศ.ทพญ.สายใจ มธุราสัย เป็นประธานวาระที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๖ - ๒๕๔๘) และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสารกับสมาชิก และน่าจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต
การสื่อสารต่างๆ โดยผ่าน Website ชมรมฯ "www.thaioperdent.org" ได้แก่ ข้อมูลทั่วไปของชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทย ข่าวสารของชมรมฯ ทะเบียนสมาชิกชมรมฯ บทความทางวิชาการ และกิจกรรมต่างๆ ของชมรมฯ
จากการเติบโตของชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทย ทำให้สมาชิกชมรมฯ มีจำนวนมากขึ้นจนมีสมาชิกกว่า ๒๐๐๐ คนในปัจจุบันทั่วประเทศ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้อง และสอดคล้องกับการเติบโต ชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทยมีแนวทางที่จะเปลี่ยนการดำเนินการของชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทยเป็น สมาคมทันตกรรมหัตถการ (ประเทศไทย) ซึ่งมีการดำเนินการมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
การดำเนินการจัดตั้ง สมาคมทันตกรรมหัตถการ (ประเทศไทย) ได้ดำเนินการร่างระเบียบข้อบังคับสมาคมทันตกรรมหัตถการ (ประเทศไทย) ขึ้น โดยอาศัยต้นแบบจากชมรมทันตกรรมหัตถการแห่งประเทศไทย ทันตแพทยสมาคม และสมาคมอื่นๆที่มีการจัดตั้ง และได้มีการประชุมพิจารณาร่างระเบียบโดยกรรมการบริหารชมรมทันกรรมหัตถการแห่งประเทศไทย วาระ พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔ จนได้ร่างระเบียบที่เหมาะสม และได้มีมติการประชุมกรรมการบริหารชมรมฯ เพื่อรับรองร่างระเบียบสมาคมฯ เพื่อยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้ง สมาคมทันตกรรมหัตถการ (ประเทศไทย) ต่อไป โดยมี รศ.ดร.ทพ.พิศลย์ เสนาวงษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฯ รศ.ดร.ทพญ.ศิริวิมล ศรีสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นอุปนายกสมาคมฯ และ อ.ทพญ.อณิชา โกมลสิงห์สกุล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ในวาระแรกของการจัดตั้ง สมาคมทันตกรรมหัตถการ (ประเทศไทย)